การเมือง ของ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล

ปกรณ์วุฒิได้รับการชักชวนจากเพื่อนของตนให้เข้าร่วมงานทางการเมืองและสมัครสมาชิกพรรคอนาคตใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2561 และได้ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562[1] ในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 37[6] และได้รับการเลือกตั้ง ต่อมาได้รับเลือกเป็นรองประธานคนที่ 4 ในคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ของสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 25[7]

แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2563 พรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค ปกรณ์วุฒิจึงย้ายตามสมาชิกส่วนใหญ่ไปสังกัดพรรคก้าวไกล และเริ่มเป็นที่รู้จักจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จำนวน 2 คน คือ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการอภิปรายเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 เรื่องการออกกฎกระทรวงเพื่อขยายอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถล้วงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนได้โดยไม่จำเป็นต้องขอหมายจากศาล ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ[8] และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการอภิปรายเมื่อปี พ.ศ. 2565 เรื่องการปกปิดทรัพย์สินในบัญชีที่จำเป็นต้องแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับการถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ผ่านตัวแทนอำพราง โดยไม่ปรากฏหลักฐานการซื้อขายหุ้นในบัญชีทรัพย์สิน และยังนำ หจก.นี้มาเป็นคู่สัญญากับรัฐเพื่อรับงานในกระทรวงคมนาคม เข้าข่ายฮั้วประมูลและการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งอาจทำให้ขาดคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ[9] และกรณีนี้นำมาสู่การรับคำร้องของฝ่ายค้านโดยศาลรัฐธรรมนูญ และสั่งให้ศักดิ์สยามหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2566[10] ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินให้ศักดิ์สยามพ้นจากรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2567[11]

ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ปกรณ์วุฒิลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่ออีกครั้ง ในสังกัดพรรคก้าวไกล แต่ขยับขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 22[12] และได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง รวมถึงได้รับเลือกเป็นรองประธานคนที่ 2 ในคณะกรรมาธิการคณะเดิม คือคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ของสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 26[13] ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2566 วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ตามที่ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเสนอ โดยมีปกรณ์วุฒิเป็นประธานกรรมการ[14]

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 2 สมัย คือ

  1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคอนาคตใหม่พรรคก้าวไกล
  2. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคก้าวไกล

ตำแหน่งในคณะกรรมการของสภาชุดปัจจุบัน

ตำแหน่งคณะกรรมการ/คณะกรรมาธิการ
ประธานกรรมการคณะกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
รองประธานกรรมาธิการ คนที่ 2คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

แหล่งที่มา

WikiPedia: ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_34643... https://waymagazine.org/pakornwut-udompipatskul-ba... https://www.thansettakij.com/politics/584626 https://thestandard.co/bitcoin-center-thailand-fin... https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E... https://library.parliament.go.th/sites/default/fil... https://www.dailynews.co.th/news/233244/ https://mgronline.com/politics/detail/965000006878... https://themodernist.in.th/pakornwut-udompipatskul... https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E...